งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลาย วัฒนธรรม และการใช้ประโยชน์ของข้าวพันธุ์พื้นเมืองบริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยเก็บรวบรวมข้าวในพื้นที่ปลูกประเมินลักษณะทางสัณฐานวิทยา ผลการศึกษา พบข้าวพื้นเมืองจำนวน 39 พันธุ์ แบ่งตามนิเวศวิทยาการปลูกได้ 3 กลุ่ม คือ ข้าวนาสวนข้าวไร่ และข้าวขึ้นน้ำ และมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่มีความหลากหลาย พบ 12 ลักษณะ ที่สามารถใช้จำแนกความแตกต่างของพันธุ์ข้าวได้ และสามารถแบ่งข้าวตามลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวกล้องได้ 7 กลุ่ม การศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมและการใช้ประโยชน์ พบว่าข้าวพื้นเมืองในพื้นที่ลดจำนวนลง เนื่องจากสภาพปัญหาภัยแล้งเหตุผลในการอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองของคนในชุมชน คือ มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น มีกลิ่นหอม ผลผลิตมาก และมีการปรับตัวได้ดีในสภาวะน้ำท่วมและแล้ง ระบบการเพาะปลูก ส่วนใหญ่ทำนาหว่านประเพณีที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ คือ พิธีกรรมการแรกนา พิธีหว่านข้าวเอาฤกษ์ เป็นต้น นอกจากนี้มีการใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร เช่น การทำเส้นหมี่โคราช ขนมจีน เป็นต้น การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าข้าวพื้นเมืองสามารถพัฒนาเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการเผยแพร่และสร้างเครือข่ายความรู้เกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในอนาคต