ศูนย์วิจัยและพัฒนา สง่า สรรพศรี
ศูนย์วิจัยและพัฒนา สง่า สรรพศรี เป็นหน่วยงานระดับสำนักขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ แบ่งตามโครงสร้างประกอบด้วยส่วนงาน 4 ส่วน คือ ส่วนวิจัย, ส่วนหอพรรณไม้, ส่วนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ, และส่วนวิชาการ
งานวิจัยและพัฒนามีความสําคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานต่างๆ ให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีความถูกต้องครบถ้วนตามหลักวิชาการ โดยมีการนำข้อมูล ข้อเท็จจริงจากการวิเคราะห์ ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เข้ามาช่วยประกอบในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน และพัฒนางานให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสําคัญของงานวิจัยและพัฒนา จึงได้จัดตั้งแผนกวิเคราะห์และวิจัยขึ้นในกองวิชาการ
ศูนย์วิจัยและพัฒนา สง่า สรรพศรี เป็นกลุ่มอาคารที่ดูแลงานด้านวิชาการของสวนพฤกษศาสตร์ ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ อาคารหอพรรณไม้ (Herbarium Building), อาคารวิจัย (Research Building), และอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Science Museum)
กลุ่มอาคารเหล่านี้ จะมีนักพฤกษศาสตร์ประจำอยู่ตลอดเวลา เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการด้านพืชทั้งหมดโดยเฉพาะพันธุ์ไม้ไทย นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ตัวอย่างผลแห้งต่างๆ มีศูนย์คอมพิวเตอร์ข้อมูลพืช และห้องสมุดทางพฤกษศาสตร์ มีกิจกรรมขยายพันธุ์พืชหายากโดยวิธีการที่ทันสมัย เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตให้ความรู้ทางด้านพืช ธรรมชาติวิทยา และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับพืช
วัตถุประสงค์
1. สำรวจและรวบรวมพรรณไม้ของเมืองไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรพืช และเพื่อจัดหาตัวอย่างพืชจริงนำมาจัดปลูกเพื่อการอนุรักษ์ ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และศูนย์รวมพรรณไม้สาขาทั่วประเทศ
2. จัดทำและดูแลการเก็บรักษาตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ตัวอย่างดอง ผลแห้งและตัวอย่างสไลด์ เพื่อใช้ในงานอนุกรมวิธานจำแนกชนิดพันธุ์พืช
3. ตรวจสอบรายชื่อพรรณไม้และจัดทำป้ายชื่อวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์ฯ และศูนย์รวมพรรณไม้สาขา และ รับบริการทำป้ายชื่อพันธุ์ไม้
4. ปฏิบัติงานร่วมให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่สำนักพัฒนาและปลูกบำรุง ในการตรวจสอบรายชื่อพืชและจัดทำพื้นที่แสดงวงศ์ไม้ หรือจัดกลุ่มพรรณไม้ เพื่อให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ แก่สาธารณะชน ทั้งนี้เพื่อให้สวนพฤกษศาสตร์ฯ เป็นศูนย์พักผ่อนหย่อนใจในธรรมชาติ ที่ให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์แก่ผู้มาเยี่ยมชมอย่างแท้จริง
5. ค้นคว้า วิจัย ในสาขาที่สนับสนุนงานทางด้านอนุกรมวิธานพืช เช่น งานวิจัยทางด้าน สัณฐานวิทยา กายวิภาควิทยา เซลพันธุกรรม พฤกษเคมี isoenzymes และ DNA analysis เป็นต้น
6. รับผิดชอบการให้ยืม แลกเปลี่ยนตัวอย่างพรรณไม้กับหอพรรณไม้อื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยยึดระเบียบปฏิบัติที่กำหนดโดย อ.ส.พ.
7. ติดต่อประสานงานกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาที่จะเป็นประโยชน์กับกิจกรรมของงานหอพรรณไม้
8. เป็นวิทยากรบรรยายทางวิชาการทางด้านพืชหรือพฤกษอนุกรมวิธาน หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหอพรรณไม้